5 คำแนะนำ เรียนศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างไรให้ใช้ได้แบบไม่ลืม!
คุณกำลังเจอปัญหาเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ... "ทำไมเรียนคำศัพท์อังกฤษมาไม่นานก็ลืม" "ทำไมเรียนภาษาอังกฤษแล้วเอาไปพูดไม่ได้สักที" ถ้าคุณกำลังเจอปัญหานี้อยู่ อาจเพราะคุณยังไม่รู้วิธีว่าต้องทำอย่างไรคำศัพท์ที่ได้เรียนมาจึงอยู่กับเราไปได้นานและพร้อมสำหรับการนำมาใช้ในทันทีที่ต้องการ ถ้าคุณกำลังอยากจะแก้ปัญหานี้ วันนี้เรามีเทคนิคจำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบไม่ลืมมาฝากครับ ไปติดตามพร้อมกันได้เลย!
เราเรียนรู้คำศัพท์จากช่องทางไหนได้บ้าง?
วิธีที่จะทำให้ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่อย่างเร็วที่สุดคือการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าว นิยายและการ์ตูน โพสต์จากบล็อกต่าง ๆ หรือแม้แต่ความเห็นในโซเชียลมีเดีย ถ้าอยากได้ศัพท์เพิ่ม เราขอแนะนำว่าหากชอบอ่านอะไรในภาษาไทย ลองสลับไปอ่านเรื่องเหล่านั้นในภาษาอังกฤษบ้าง วิธีนี้จะให้คุณได้เห็นคำแปลหรือความหมายของศัพท์ใหม่ๆอยู่เสมอ ซึ่งช่วยให้คุณจำมันได้ดีขึ้น
หากใครไม่ชอบอ่าน แนะนำให้ใช้เป็นการดูและฟัง สองวิธีนี้ก็ทำให้ได้รู้ศัพท์เพิ่มจำนวนมากเช่นเดียวกับการอ่านครับ โดยให้เริ่มจากสิ่งที่คุณสนใจ เช่น หากคุณชอบทำอาหาร แทนที่จะดูคลิปสอนทำอาหารเป็นภาษาไทย ก็ลองดูคลิปภาษาอังกฤษบ้าง สิ่งที่คุณจะได้อย่างแน่นอนคือคำศัพท์ชื่อส่วนผสม อุปกรณ์ และคำศัพท์อธิบายวิธีการทำอาหารตั้งแต่การเตรียมไปจนถึงวิธีจัดเสิร์ฟ
5 วิธี ทำอย่างไรจึงไม่ลืมคำศัพท์ที่ได้รู้?
1. เริ่มเรียนจากคำศัพท์ที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับสายงาน
การเรียนคำศัพท์ที่ยากเกินไป หรือเรียนคำศัพท์แบบสุ่มคำที่จะเรียน (เรียนคำไหนก็ได้ตามที่พบเห็น) วิธีแบบนี้นอกจากจะไม่ทำให้เราได้คำศัพท์ที่ตรงกับความต้องการแล้ว คำศัพท์ที่ได้มายังมีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้นำไปใช้จริง เมื่อไม่ได้ใช้ ก็แน่นอนว่าจะไม่ได้ทบทวนคำศัพท์นั้น ในที่สุดก็จะลืมคำศัพท์ที่เพิ่งได้รู้ใหม่ไปในเวลาอันรวดเร็ว
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงาน ให้เริ่มต้นจากภาษาอังกฤษที่ได้ใช้ในสายงานของตัวเอง เช่น หากมีอาชีพเป็นพนักงานโรงแรม ควรเริ่มต้นเพิ่มคำศัพท์จากสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือสถานการณ์ที่อาจได้พูดภาษาอังกฤษ , อาชีพพนักงานออฟฟิศควรมองหาคำศัพท์ที่อาจได้ใช้ในบทสนทนาทางโทรศัพท์ หรือคำศัพท์ที่อาจได้ใช้เมื่อเขียนอีเมล เมื่อได้เรียนสิ่งที่อยู่ในสายงานมากพอแล้ว จึงต่อยอดไปสู่คำศัพท์ในหมวดอื่นที่อยากรู้เพิ่มเติม
สำหรับใครที่ไม่ได้ทำงาน การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเริ่มต้นเรียนคำศัพท์จากสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น หากคุณสนใจกีฬา นอกจากอ่านและดูข่าวกีฬาภาษาไทยแล้ว ก็ควรลองเริ่มต้นอ่าน หรือดูคลิปข่าวกีฬาสั้น ๆ ในภาษาอังกฤษด้วย วิธีนี้จะทำให้ได้คำศัพท์เพิ่มขึ้นมากโดยไม่รู้ตัว และจะทำให้เข้าใจคำศัพท์ในรูปประโยคจริง แทนการได้มาเฉพาะคำและความหมายเท่านั้น เมื่อเริ่มจากสิ่งที่สนใจ คุณจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะคุณมีข้อมูลพื้นฐานในภาษาไทยมากพอที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องราวและคำศัพท์ในภาษาอังกฤษได้ไม่ยาก
2. เรียนคำศัพท์แบบค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อได้คำศัพท์จากเทคนิคข้อ 1 มาแล้ว เราควรรวบรวมสิ่งที่ได้เรียนเก็บไว้ด้วย อาจจะเป็นการจดไว้ในสมุด จดบันทึกในแอพโน้ตบนสมาร์ทโฟน หรือทำเป็นภาพคำศัพท์และ flashcard เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ที่สำคัญคือไม่ควรเรียนคำศัพท์มากเกินไปต่อการเรียนหนึ่งครั้ง ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่าวันละ 8 คำ ถือว่ากำลังพอดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าเรียนรู้ได้มากแค่ไหน โดยวิธีทดสอบคือเมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ให้ลองทดสอบตัวเองว่าคำศัพท์ที่เรียนไปเมื่อวานนั้น วันนี้จำได้อยู่กี่คำ นั่นแหละคือจำนวนที่พอเหมาะสำหรับการเรียนรู้ในหนึ่งวันของคุณ
3. ทบทวนคำศัพท์อย่างสม่ำเสมอ
สมมติคุณเรียนคำศัพท์วันละ 5 คำ หากทำอย่างต่อเนื่องก็เท่ากับว่าผ่านไป 10 วัน คุณจะได้คำศัพท์ใหม่ 50 คำ แต่ถ้าเรียนเพิ่มอย่างเดียวโดยไม่ได้ทบทวนเลย 50 คำนั้นก็คงหายไปในที่สุด ฉะนั้นการทบทวนจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่จะทบทวนแบบท่องคำศัพท์และความหมายก็ดูจะน่าเบื่อเกินไป เราจึงขอแนะนำให้ทบทวนด้วยเทคนิค Spaced Repetition คือเมื่อวันแรกได้เรียนรู้ศัพท์แล้ว วันต่อมาให้ทบทวนครั้งแรก จากนั้นทิ้งระยะไปอีกสองสามวันก็ให้กลับมาทบทวนคำศัพท์นั้นอีกครั้ง โดยอาจจะทบทวนแค่คำศัพท์และความหมาย หรือพัฒนาไปเป็นการนำไปใส่ในประโยคตามเทคนิคต่อไปที่เรากำลังจะพูดถึงก็ได้ ทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ ในที่สุดคำศัพท์ก็จะอยู่ใน Memory ของเรา พร้อมสำหรับการเรียกมาใช้งาน
4. ฝึกแต่งประโยคจากคำศัพท์ที่ได้เรียน
สามเทคนิคแรกที่พูดถึงไป คือการทำให้เราได้คำศัพท์มา และทบทวนจนไม่ลืมคำศัพท์นั้น แต่มันจะไม่เกิดประโยชน์เลยถ้าไม่ได้นำไปใช้จริง หากให้นำไปใช้ทันที หลายคนก็อาจไม่มีความมั่นใจ ฉะนั้นวิธีที่เป็นไปได้คือลองฝึกนำคำศัพท์นั้นมาแต่งประโยคเองก่อน โดยเริ่มจากแต่งประโยคในใจและพูดออกมาเพื่อฝึกการออกเสียง เช่น หากได้เรียนคำว่า "about to ..." ซึ่งเป็นสำนวน (Idiom) และรู้ว่าคำนี้หมายถึง "กำลังจะ" (มีความหมายเท่ากับ going to รวมถึงทบทวนจนไม่ลืมคำนี้แล้ว ก็ควรเพิ่มความท้าทายด้วยการลองสร้างประโยคจากคำนี้ขึ้นมาให้ได้ เช่น
• The train is about to leave in 10 minutes.
(รถไฟกำลังจะออกในอีก 10 นาที)
5. นำคำศัพท์ไปใช้จริง
4 เทคนิคที่บอกไป จะไม่เกิดผลใด ๆ ในทางปฏิบัติเลยถ้าคุณไม่ได้นำคำศัพท์ที่เรียนมาแล้วไปใช้จริง ซึ่งอาจจะเป็นการใช้ในสายงาน (ตอบอีเมล ตอบคำถามทางโทรศัพท์ ฯลฯ) ลองเอาคำที่ได้เรียนมาสร้างโพสต์ในโซเชียลมีเดีย (หากคำนั้นตรงกับเรื่องที่คุณสนใจและต้องการสื่อสาร) หรือวิธีที่ดีที่สุดคือการฝึกพูดกับเพื่อนและครูชาวต่างชาติ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะได้นำคำที่มีอยู่มาใช้แล้ว ยังได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
วิธีดีที่สุดที่จะทำให้ไม่ลืมคำศัพท์คือการที่ผู้เรียนได้นำไปใช้จริง ซึ่งหากหน่วยงานหรือโรงเรียนต้องการครูชาวต่างชาติเพื่อเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้นักเรียนหรือพนักงานในองค์กร เราขอแนะนำบริการ หาครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ จาก "English Fluency Communication" เพราะที่นี่มีบริการอย่างครบวงจรทั้งจัดหาครูต่างชาติ (NES/NNES) จัดค่ายภาษาอังกฤษ และอีกหลายบริการซึ่งเกี่ยวข้องกับครูชาวต่างชาติ หากสนใจบริการของเรา คลิกเข้าไปได้ ที่นี่ ฝากรายละเอียดของคุณไว้ หรือติดต่อเราตามช่องทางที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ได้เลย
ที่มาข้อมูล :
- https://www.englishclub.com/efl/articles/vocabulary/7-tips-for-learning-english-vocabulary/
- https://learnenglishteens.britishcouncil.org/exams/grammar-vocabulary-exams/tips-remember-words
- https://www.britishcouncil.org/voices-magazine/ten-ways-learn-new-words-language-learner
- https://www.grammarly.com/blog/how-to-improve-english/
- https://quizlet.com/
- https://www.engfluency.com/contact?lang=th
ที่มารูปภาพ : https://pixabay.com/photos/girl-english-dictionary-read-2771936/